วันจันทร์, ตุลาคม 29, 2550

ที่ไหนๆ ก็มีคนเหงา

คนเหงามีรูปร่างหน้าตาเหมือนคนธรรมดานี่แหละ ไม่ได้มี 2 ปากหรือ 4 หู ไม่ได้มี 3 ขาหรือ 3 แขน ต้นเหตุที่ทำให้คนธรรมดากลายเป็นคนเหงามีมากมาย เช่น อยู่คนเดียวแล้วเหงาๆ อยู่สองคนแต่เหงาเพราะเราไม่เข้าใจกัน อยู่หลายคนแต่รู้สึกว่าไม่มีใครอยู่ด้วยเลย ฯลฯ มนุษย์ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่เหงาเป็น พวกหมาก็ชอบแสดงออกเรื่องเหงา แต่ผมไม่รู้ว่าต้นไม้เหงาได้หรือเปล่า ต้นไม้ไม่ได้ไปไหนไกลเลย ยืนอยู่กับที่อย่างนั้นตั้งแต่เกิดจนตาย และผมก็ไม่รู้เลยว่าสัตว์เลื่อยคลานอย่างงูเหงาเป็นไหม ถ้าเหงาเป็น...งูมีพิษกับงูไม่มีพิษ งูแบบไหนเหงามากกว่ากัน

เราพยายามคลายเหงาด้วยวิธีการต่างๆ มาตั้งแต่อดีต ดีที่สุดก็ได้แค่คลายเหงา แต่การกำจัดความเหงาให้สิ้นซากยังเป็นไปไม่ได้ คนรวยจึงมีสิทธิ์เหงาเท่าคนจน คนดีมีโอกาสเหงาเท่าๆ กับคนชั่ว ขนาดแฝดสยามที่ตัวติดกันก็ยังเหงา

สมมติว่าเหงาจัดๆ แล้วทำให้คนตาย ก็จะมีคนตายเพราะความเหงามากกว่าตายเพราะเอดส์หรือโรคระบาดอื่นๆ แต่คนเหงาแล้วอยู่อย่างตายซาก สามารถพบเห็นได้ทั่วไป ชีวิตคนเราเป็นชีวิตแบบเอกเทศ ต่อให้มีพี่น้องท้องเดียวกัน 100 คน ความเป็นเอกเทศก็ไม่หายไปไหน ไอ้เอกเทศนี่แหละที่มีส่วนทำให้คนเราเหงา เพราะเราต่างคือ 1 หน่วย พอมีแค่หนึ่งก็เท่ากับ "ตามลำพัง" และเราคงความเป็นตามลำพังเอาไว้เหนียวแน่นมาก เนื่องจากลึกๆ แล้วเราท่านรู้สึกถึงความเป็นหนึ่งเดียวดังกล่าว หากรู้สึกมากกว่าหนึ่ง ความเหงาก็จะเป็นเรื่องขนมๆ

การที่คนเราพยายามสืบค้นและตามหาว่ามีมนุษย์ต่างดาวอยู่หรือเปล่า ผมว่ามีความเหงาเป็นแรงกระตุ้นสำคัญ ในกาแลคซี่เราและกาแลคซีอื่นมีดวงดาวนับไม่ถ้วน แต่เรารู้เพียงแค่โลกของเราเท่านั้นที่มีสิ่งมีชีวิต ซึ่งมันทำให้เหงาเหลือเกิน สมมติว่ามีบ้าน 100,000 หลัง ปลูกเรียงกันอยู่เป็นวงกลม แต่เท่าที่เรารู้มีเพียงแค่บ้านหลังเดียวเท่านั้นที่มีคนอยู่ เป็นใครก็ต้องเหงา อ้าว ! ไอ้บ้านหลังอื่นมีคนอยู่ไหม? ถ้ามีมาเป็นเพื่อนกันดีกว่า บางทีการค้นพบว่ามีมนุษย์ต่างดาวน่าจะทำให้ผู้คนเหงาน้อยลง และเลิกโลนลี่ พลาเน็ตอีกต่อไป ซึ่งจะส่งผลดีต่อมนุษยชาติมากทีเดียว

การที่คุณปู่โธมัส อัลวา เอดิสัน ประดิษฐ์หลอดไฟฟ้าขึ้นมาก็น่าจะมีความเหงาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ประมาณว่าใช้แสงสว่างทำลายความเหงาในช่วงกลางคืนซะเลย ความมืด ความสว่างสัมพันธ์กับความเหงานะครับ พระอาทิตย์ตอนเที่ยงวันซึ่งสว่างมากไม่ได้ทำให้คนเราเหงาเท่ากับตอนที่พระอาทิตย์ตกดิน ดวงจันทร์เต็มดวงมักทำให้เราเหงาน้อยกว่าคืนเดือนมืดที่ปราศจากแสงจันทร์ แต่สำหรับยุคนี้ที่โลกเต็มไปด้วยแสงไฟ ทำไมคนเราจึงเหงามากขึ้นก็ไม่รู้ ทฤษฎีความสว่างกับอาการเหงาจึงอาจไม่มีอยู่จริง

(บางตอนจากหนังสือ ความสงสัยที่อยู่ใกล้สิ่งสมมติ ปลาอ้วน เขียน ปราชญ์เปรียวสำนักพิมพ์ 2549)

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

จริงหรือที่ความมืดและความสว่างต่างสัมพันธ์กับความเหงา..คิดว่าน่าจะขึ้นอยู่กับจิตใจในยามนั้น..เสียงอึงอลไม่ทำให้ความเหงาเศร้าลดลง..แสงจ้าของกลางวันไม่ทำให้ความหม่นในใจเจือจาง..พระจันทร์ดวงเดิมซีดจางยิ่งมองยิ่งเหงาค่ะ